ที่มาและแนวคิด


ความถี่และผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติได้ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นและเกิดบ่อยครั้งขึ้นทั่วโลก ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจเป็นจำนวนมหาศาล ในประเทศไทย ภัยจากคลื่นสึนามิเมื่อปี 2547 ใน 6 จังหวัดภาคใต้ ได้ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อระบบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมากกว่า 30,000 ล้านบาท1 และสถานการณ์อุทกภัยในปี 2553 ได้สร้างความเสียหายเป็นมูลค่าสูงถึง 16,339 ล้านบาท2 ขณะที่ในปี 2554 มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยและได้ถูกประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน รวมทั้งสิ้น 65 จังหวัด โดยมีการประเมินตัวเลขความเสียหายเบื้องต้นเป็นจำนวนนับแสนล้านบาท

ผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติเหล่านี้ จำต้องได้รับการฟื้นฟูเยียวยา และทำให้การดำรงชีวิตและการทำงานกลับคืนสู่สภาพปกติ ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ภาคธุรกิจเอกชนถือเป็นหนึ่งในผู้มีบทบาทสำคัญที่มีส่วนในการช่วยเหลือ การบรรเทาทุกข์ และการฟื้นฟูหลังการเกิดภัยพิบัติ โดยในต่างประเทศ ได้มีการจัดตั้งกลุ่มความร่วมมือของภาคเอกชนต่อการรับมือกับภัยพิบัติในลักษณะของการทำงานวิถีกลุ่ม (Collective Action) เพื่อเสริมพลังของการช่วยเหลือ การบรรเทาทุกข์ และการฟื้นฟูจากภัยพิบัติที่มีความรุนแรงและส่งผลเสียหายในวงกว้าง ที่ซึ่งทรัพยากรขององค์กรใดองค์กรเดียวไม่สามารถใช้ให้เกิดผลได้เพียงลำพัง

สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะองค์กรที่ทำงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกับภาคธุรกิจเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2548 ภายใต้เครือข่าย Thai CSR ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการภัยพิบัติและการฟื้นฟูบูรณะหลังการเกิดภัยพิบัติ ที่ภาคเอกชนจะเข้าไปมีส่วนร่วมด้วยการทำงานในแบบกลุ่มความร่วมมือ และจำต้องอาศัยการแลกเปลี่ยนข้อมูล องค์ความรู้ กรณีศึกษา และบทเรียนการจัดการภัยพิบัติในอดีตทั้งในและต่างประเทศ เพื่อการเรียนรู้และต่อยอดการทำงาน ที่ทำให้ไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์

ข่ายงานทรัพยากรภัยพิบัติไทย (Thai Disaster Resource Network) สำหรับภาคเอกชน หรือ Thai DRN จึงถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นแหล่งข้อมูลและทรัพยากรสนับสนุนการทำงานขององค์กรธุรกิจในการรับมือภัยพิบัติ ทั้งการลดความเสี่ยง การเตรียมความพร้อม การเผชิญเหตุ และการฟื้นฟูหลังภัยพิบัติ โดยมีชุดข้อมูลและองค์ความรู้ที่เหมาะสมต่อการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมในสถานการณ์ฉุกเฉินและไม่ปกติ รวมทั้งแนวทางกลยุทธ์การรับมือภัยพิบัติที่มีประสิทธิผล ซึ่งต่างจากกลยุทธ์ CSR ที่ใช้ในสถานการณ์ปกติ


--------------------------------------
1 สถานการณ์สาธารณภัยของประเทศไทย, แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (พ.ศ.2553 – 2557), กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา สำนักวิจัยและความร่วมมือระหว่างประเทศ).
2 สถิติสถานการณ์อุทกภัยของประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2532 - 2553 (ข้อมูล ณ วันที่ 13 มกราคม 2553), ศูนย์อานวยการบรรเทาสาธารณภัย, กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย.