ภาพรวม: บทบาทภาคเอกชน


องค์กรส่วนใหญ่ที่มีแหล่งดำเนินงานในพื้นที่ประสบเหตุ สามารถดำรงบทบาทในการพัฒนา การประสานงานและการจัดการภัยพิบัติ โดยบริษัทใหญ่ๆ มักจะมุ่งที่การดำเนินงานและปฏิบัติการในระดับมหภาค ขณะที่บริษัทท้องถิ่นซึ่งมีขนาดเล็กกว่า จะดำเนินความช่วยเหลือที่เป็นการซ่อมสร้างเศรษฐกิจในระดับชุมชน

ด้วยความใกล้ชิดกับชุมชนท้องถิ่น จะทำให้บริษัทเล็กๆ สามารถมีบทบาทนำในระยะของการช่วยเหลือและการบรรเทาทุกข์ได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับผลกระทบจากภัยพิบัติที่มีต่อกิจการ

ภาคธุรกิจ สามารถให้ความช่วยเหลือ ภายใต้ขอบข่ายที่ดำเนินการได้ ดังนี้
การดำเนินผ่านกระบวนงานหลักทางธุรกิจ ในสถานประกอบการ ในช่องทางการตลาด และในสายอุปทาน
การให้และกิจกรรมเพื่อสังคม ภายในชุมชนที่ธุรกิจดำเนินงานอยู่
การเข้าร่วมหารือและผลักดันในนโยบายสาธารณะต่างๆ


การดำเนินงานขององค์กรต่อการจัดการภัยพิบัติ1

แก่นธุรกิจและทรัพยากรที่องค์กรมีอยู่ ถือเป็นหัวใจหลักของการทำงาน เป็นตัวกำหนดทิศทาง และลักษณะของการเข้าให้ความช่วยเหลือร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ ต่อการรับมือภัยพิบัติ การพิจารณาโอกาสในสถานประกอบการ ในช่องทางการตลาด และในสายอุปทาน เช่น การบริจาค และการอาสาในหมู่พนักงาน ซึ่งมักจะเป็นกิจกรรมแรกๆ ที่เกิดขึ้นในระยะของการช่วยเหลือและการบรรเทาทุกข์จากภัยพิบัติ รวมถึงการมีส่วนร่วมในการซ่อมสร้างเศรษฐกิจในชุมชนท้องถิ่น ตลอดจนการทำงานกับหน่วยงานภาครัฐ และภาคประชาสังคม เพื่อชักนำให้เกิดสภาพแวดล้อมในการทำงานร่วมกันและสนับสนุนซึ่งกันและกัน ซึ่งบทบาทหลังนี้ จะสามาถขยายผลด้วยการแสดงคำมั่นอย่างจริงจังต่อการช่วยเหลือ การบรรเทาทุกข์ และการบูรณะทางเศรษฐกิจ

สมาคมการค้า สภาอุตสาหกรรม หอการค้า และการรวมตัวในรูปแบบอื่นๆ จะมีบทบาทสำคัญจำเพาะในการรับมือกับประเด็นความท้าทายที่อยู่เกินขอบเขต อำนาจ และความสามารถในการทำงานของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง การรวมกลุ่มทำงาน สามารถเป็นได้ทั้งธุรกิจกับธุรกิจ ธุรกิจกับรัฐ ธุรกิจกับประชาสังคม หรือผสมผสานระหว่างกลุ่มเหล่านี้ การทำงานวิถีกลุ่ม (Collective Action) เช่นนี้ จะช่วยเพิ่มกำลังและความชอบธรรมในการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจในการเผชิญความท้าทายระหว่างและหลังการเกิดภัยพิบัติ

ความช่วยเหลือจำเพาะที่แต่ละบริษัทและแต่ละสมาคมธุรกิจมีต่อการรับมือภัยพิบัติ ไม่เพียงขึ้นอยู่กับระยะของการจัดการภัยพิบัติ (การช่วยเหลือ การบรรเทาทุกข์ หรือการฟื้นฟู) แต่ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ
สาขาอุตสาหกรรม และชนิดของสินค้า บริการ ทรัพยากร และทักษะที่มีอยู่
รูปแบบ ขนาด และโครงสร้างผู้ถือหุ้นของธุรกิจ
ถิ่นที่ตั้ง ที่ต้องคำนึงถึงการดำเนินงานของทั้งสำนักงานใหญ่และสำนักงานในท้องถิ่น นอกเหนือจากประเด็นทางวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน
จำนวนบริษัทที่เกี่ยวข้อง อาทิ การคำนึงถึงการดำเนินงานเฉพาะองค์กรในห่วงโซ่ธุรกิจของตนเอง หรือผ่านมูลนิธิที่องค์กรจัดตั้งขึ้น หรือร่วมกับบริษัทอื่น ภาคีอื่น เช่น รัฐบาล องค์กรพัฒนาเอกชน ฯลฯ

ทั้งนี้ การเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ จะมีความเกี่ยวเนื่องกับบริษัท ตามบริบท ดังนี้
บริษัทที่มีแหล่งดำเนินงานโดยตรงในพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ
บริษัทที่มีการลงทุนในพื้นที่ดังกล่าว
บริษัทที่มีสายปัจจัยการผลิตและการกระจายสินค้าในพื้นที่
บริษัทที่มีการเคลื่อนย้ายพนักงานซึ่งได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ แม้จะมิได้ส่งผลกับธุรกิจโดยตรง



--------------------------------------
1 Sources: Nelson, J. Building Partnerships. UN and IBLF, 2002 and Nelson, J. Business as Partners in Development, IBLF, UNDP And World Bank, 1996.