ผ่างบฯซีเอสอาร์ลุยมหาอุทกภัย 2554 ธุรกิจโปรยเงิน 10-300 ล้านบาทกู้วิกฤต


ในสถานการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในปีนี้ นับตั้งแต่น้ำท่วมภาคใต้ในช่วงต้นปี จนถึงปลายปีในพื้นที่ภาคกลางรวมถึงกรุงเทพมหานคร สร้างความเดือดร้อนเสียหายทั้งทรัพย์สินและจิตใจอย่างประเมินค่าไม่ได้

แต่ทว่าในวิกฤตดังกล่าวยังได้เห็นความร่วมมือร่วมใจในการเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยของหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะภาคธุรกิจเอกชนที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือสังคมได้อย่างดี แม้ธุรกิจของตนเองจะได้รับผลกระทบด้วยก็ตาม

และจากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้รูปแบบการทำซีเอสอาร์ของแต่ละบริษัทปรับไปสู่พื้นที่ของการทำงานในภาวะวิกฤตมากขึ้น งบประมาณที่จะนำในใช้ในส่วนอื่น ๆ ถูกนำมาลงกับกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม แต่ละบริษัทมีกลยุทธ์ในการใช้งบประมาณที่แตกต่างกันไป ซึ่งส่วนใหญ่จะเทงบประมาณไปกับการบริจาคเงิน เครื่องใช้จำเป็น และรวมพลังจิตอาสาเพื่อระดมความช่วยเหลือไปถึงผู้ประสบภัยให้เร็วที่สุด

"ชาคริต ดิเรกวัฒนชัย" ผู้จัดการอาวุโส กิจการบรรษัท กิจการสาธารณะ เทสโก้ โลตัส บอกว่า หลักในการใช้งบประมาณของเราจะมองที่ความจำเป็นเร่งด่วนเป็นสิ่งแรก ดังนั้นงบประมาณที่จะใช้ทำซีเอสอาร์โครงการอื่นที่วางแผนไว้ โครงการไหนที่สามารถยืดเวลาไปได้ เราก็นำทรัพยากรในโครงการดังกล่าวมาใช้สำหรับช่วยเหลือคนในวิกฤตก่อน ส่วนด้านภาพลักษณ์จะเป็นสิ่งที่ตามมา

จากนี้ทิศทางการทำซีเอสอาร์ของแต่ละบริษัทจะเปลี่ยนโหมดไปสู่การคืนความสุขให้กับประชาชนมากขึ้น เพราะการฟื้นฟูเป็นสิ่งสำคัญ

สำหรับธุรกิจด้านการสื่อสารและ โทรคมนาคมอย่างดีแทค "พีระพงษ์ กลิ่นละออ" ผู้อำนวยการสำนึกงานสำนึกรักบ้านเกิด บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) บอกว่า งบประมาณที่เรานำมาช่วยเหลือในวิกฤตน้ำท่วมมากกว่างบประมาณที่ใช้ทำซีเอสอาร์ทั้งปี มาจากระดมทุนใน 3 ส่วน ได้แก่ 1.การของบฯซีเอสอาร์จากซีอีโอเฉพาะในเหตุการณ์น้ำท่วม 2.แปรเปลี่ยนงบประมาณสำหรับใช้ในส่วน อื่น ๆ เป็นงบประมาณสำหรับช่วยเหลือน้ำท่วม และ 3.เป็นการร่วมระดมทุนกับเครือข่ายอื่น ๆ ซึ่งนับว่าเป็นการบริหารงบประมาณให้เกิดการทำงานที่คุ้มค่ามากที่สุด

"ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่จำนวนของงบประมาณ เพราะในวิกฤตแบบนี้เชื่อว่าต่อให้มีเงินมากเท่าไหร่ก็ไม่มีวันถมเต็ม แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่ความร่วมมือร่วมใจของทุกคนที่จะช่วยผ่าฟันวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกันได้อย่างไรมากกว่า"

เรื่องนี้ "ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ"ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ยกตัวอย่างรูปแบบของการใช้งบประมาณด้านซีเอสอาร์ในภาวะวิกฤตที่ต่างประเทศเคยทำการวิจัยไว้ พบว่ามีอยู่ 3 รูปแบบ คือ

1.การทำซีเอสอาร์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลัก ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเกิด น้ำท่วม คนตกงาน เกิดความเดือดร้อน บริษัทก็เปิดรับคนเหล่านี้ให้เข้ามา ทำงานประจำ หรือในเหตุการณ์น้ำท่วม สายการบินก็เข้าให้ความช่วยเหลือด้านโลจิสติกส์ เป็นการนำธุรกิจที่ทำอยู่เข้าช่วยเหลือสังคม

2.การทำซีเอสอาร์ด้วยการบริจาคและช่วยเหลือสังคม ซึ่งเป็นการได้ 3 รูปแบบ คือบริจาคเงิน สิ่งของ และแรงงาน เช่น การบริจาคเงินให้กับมูลนิธิต่าง ๆ หรือเปลี่ยนเงินเป็นสิ่งของใน รูปแบบถุงยังชีพ ถุงคืนชีพ บริจาคให้กับผู้ได้รับผลกระทบและการส่งพนักงานไปทำจิตอาสาในพื้นที่ประสบภัย

และ 3.ซีเอสอาร์ในส่วนของการเป็น ผู้ร่วมผลักดัน โน้มน้าวให้เกิดนโยบายสาธารณะ อย่างเช่น บริษัทโตโยต้าที่เข้าไปร่วมวางแผนเพื่อหาแนวทางในการตัดถนนเพื่อระบายน้ำที่ท่วมขังอยู่ให้ออกจากพื้นที่ เป็นการทำซีเอสอาร์ด้วยการพูด ให้คำแนะนำ ให้ความรู้ ไม่ได้เป็นผู้ปฏิบัติ แต่อาศัยความมีอำนาจและความสัมพันธ์ในเครือข่ายที่ตนเองมี

นอกจากนี้เขายังฉายภาพรวมของการใช้งบประมาณซีเอสอาร์ของแต่ละบริษัทในเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ว่า มีอยู่ 2 ส่วนคืองบประมาณสำหรับใช้ทำซีเอสอาร์โดยตรง และอีกส่วนเป็นงบประมาณในการทำซีเอสอาร์มาร์เก็ตติ้ง ซึ่งมีบางบริษัทนำมารวมในงบประมาณ ซีเอสอาร์ด้วย ซึ่งเราไม่ถือว่าเป็น งบประมาณของซีเอสอาร์

"ซีเอสอาร์ที่เราเห็นแต่ละบริษัททำตอนนี้ ส่วนใหญ่ใช้งบประมาณไปกับการบริจาค แต่ก็ไม่ได้เป็นเรื่องผิดปกติ เพราะตามหลักสากลเมื่อเกิดวิกฤตขึ้น คนต้องการความช่วยเหลือแบบปัจจุบันทันด่วน การบริจาคเงิน สิ่งของ หรือ จิตอาสา เป็นสิ่งที่ต้องทำก่อน แต่เมื่อเหตุการณ์คลี่คลาย ตรงนี้อาจมีกิจกรรมอื่น ๆ เข้าฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบ"

โดย ดร.พิพัฒน์ หวังว่าจะได้เห็น รูปแบบของการทำซีเอสอาร์ที่เข้าไปอยู่ในกระบวนการธุรกิจ หรือภาคธุรกิจมีส่วนผลักดันให้เกิดนโยบายในช่วงวิกฤตน้ำท่วมมากขึ้น เพราะจะเกิดความยั่งยืนกว่าการทำเป็นกิจกรรมแล้วจบไป

เพื่อให้เป็นซีเอสอาร์ที่ยกระดับเข้าสู่กลยุทธ์องค์กรและรับผิดชอบจากเนื้อในธุรกิจจริง ๆ


[Original Link]