เปิด 'Thai DRN' เครือข่ายฟื้นฟูกู้ภัยพิบัติ


ความถี่และผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติได้ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นและเกิดบ่อยครั้งขึ้นทั่วโลก ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจเป็นจำนวนมหาศาล

ในประเทศไทย เมื่อปี 2547 เกิดคลื่นสึนามิใน 6 จังหวัดภาคใต้ ได้ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อระบบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมากกว่า 30,000 ล้านบาท ส่วนในปีที่ผ่านมา สถานการณ์อุทกภัยได้สร้างความเสียหายเป็นมูลค่าสูงถึง 16,339 ล้านบาท

ในปีนี้ อุทกภัยครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้น ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคมจวบจนถึงปัจจุบัน มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบและประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน รวมทั้งสิ้น 65 จังหวัด โดยมีการประเมินตัวเลขความเสียหายเบื้องต้นเป็นจำนวนนับแสนล้านบาท ซึ่งผลกระทบจากอุทกภัยครั้งนี้ จำต้องได้รับการฟื้นฟูเยียวยา และทำให้การดำรงชีวิตและการทำงานกลับคืนสู่สภาพปกติ ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

ทั้งนี้ ภาคธุรกิจเอกชนถือเป็นหนึ่งในผู้มีบทบาทสำคัญที่มีส่วนในการช่วยเหลือ การบรรเทาทุกข์ และการฟื้นฟูหลังการเกิดภัยพิบัติ โดยในต่างประเทศ ได้มีการจัดตั้งกลุ่มความร่วมมือของภาคเอกชนต่อการรับมือกับภัยพิบัติในลักษณะของการทำงานวิถีกลุ่ม (Collective Action) เพื่อเสริมพลังของการช่วยเหลือ การบรรเทาทุกข์ และการฟื้นฟูจากภัยพิบัติที่มีความรุนแรงและส่งผลเสียหายในวงกว้าง ที่ซึ่งทรัพยากรขององค์กรใดองค์กรเดียวไม่สามารถใช้ให้เกิดผลได้เพียงลำพัง

สถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงเปิดตัวข่ายงานทรัพยากรภัยพิบัติ (Disaster Resource Network) ภาคเอกชน ในชื่อ Thai DRN สนับสนุนการทำงานฟื้นฟูขององค์กรธุรกิจ ด้วยแนวทาง "Build Back Better" เพื่อเพิ่มสมรรถภาพในการฟื้นฟูบูรณะหลังการเกิดภัยพิบัติ เน้นการใช้กระบวนงานหลักขององค์กร และประเด็นด้านความยั่งยืน โดยนำตัวชี้วัด GRI มาใช้สนับสนุนการดำเนินงาน

โดยข่ายงานดังกล่าว ภาคเอกชนจะได้มีส่วนร่วมด้วยการทำงานในแบบกลุ่มความร่วมมือ มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล องค์ความรู้ กรณีศึกษา และบทเรียนการจัดการภัยพิบัติในอดีตทั้งในและต่างประเทศ เพื่อการเรียนรู้และต่อยอดการทำงาน ซึ่งทำให้ไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์

ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ฯ กล่าวถึงการเปิดตัวข่ายงานทรัพยากรภัยพิบัติว่า จากการที่สถาบันได้ขับเคลื่อนงานด้าน CSR ร่วมกับภาคธุรกิจภายใต้เครือข่าย Thai CSR มาโดยตลอด เล็งเห็นถึงความสำคัญของการมีชุดข้อมูลและองค์ความรู้ที่เหมาะสมต่อการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมในสถานการณ์ฉุกเฉินและไม่ปกติ รวมทั้งความจำเป็นของการมีกลยุทธ์การรับมือภัยพิบัติที่มีประสิทธิผล สำหรับตอบสนองต่อเหตุอุทกภัยในครั้งนี้ ซึ่งต่างจากกลยุทธ์ CSR ที่ใช้ในสถานการณ์ปกติ

"Thai DRN เป็นเสมือนแหล่งข้อมูลด้านความรับผิดชอบต่อสังคมในเวอร์ชั่นพิเศษ เพื่อใช้สนับสนุนการทำงานของภาคเอกชนในสถานการณ์ภัยพิบัติ ขณะที่ Thai CSR จะทำหน้าที่สนับสนุนการขับเคลื่อน CSR ในสถานการณ์ปกติ ซึ่งก็ได้ดำเนินงานเข้ามาสู่ปีที่ 7 แล้ว"

ภาคเอกชนที่สนใจนำเครื่องมือเผชิญภัยพิบัติมาใช้สำหรับองค์กร ตั้งแต่เครื่องมือการลดความเสี่ยง (Risk Mitigation) เครื่องมือการเผชิญเหตุ (Response) เครื่องมือการฟื้นฟู (Recovery) และเครื่องมือการสื่อสาร (Communications) สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ข่ายงานทรัพยากรภัยพิบัติที่ www.thaiDRN.com


[Original Link]